บทความ



ยกครูเป็นอาชีพทรงเกียรติ เด็กถึงจะเรียนเก่ง 



            เมื่อกล่าวถึงเรื่องของ การพัฒนาเด็กและเยาวชน แล้ว จะเห็นได้ว่าจีนเป็นชาติที่มีคนที่เก่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะความขยันและความมีวินัย ซึ่งทำให้จีนสามารถสร้างประเทศให้ก้าวหน้าและเจริญได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจีนให้ความสำคัญกับ “แผนพัฒนาในตัวเด็กและเยาวชน” อันเป็นรากฐานที่สำคัญของการสร้างชาติให้เจริญและยิ่งใหญ่ รวมถึงการจัดงบประมาณเพื่อการพัฒนาในการศึกษาของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญต้นๆ ของประเทศ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศอื่นๆ นั้นจะให้ความสำคัญกับ “บุคลากรครูอาจารย์” อย่างยิ่ง จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ตั้งแต่สมัยโบราณนั้น คนที่จะมีอาชีพครูอาจารย์ จึงมักจะเป็นคนที่เรียนเก่งและมีคุณธรรม และที่สำคัญยิ่งคือมีความรักในอาชีพ ครูอาจารย์จีนจึงยอมที่จะทุ่มเทเวลาในการอบรมสั่งสอนนักเรียน และทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง อาชีพครูอาจารย์จึงเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและได้รับเกียรติ และยังมีคนจำนวนมากที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครู นอกจากการมีครูอาจารย์ อันเป็นบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว หลักสูตรการเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ จีนได้มีความพยายามในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนมาโดยตลอด และฟังความเห็นจากนักวิชาการ เสียงสะท้อนจากนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญมากโดยตลอด เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ   จึงต่างจาก “การศึกษาของไทย” ที่เหล่าบรรดานักการศึกษา หรือครูอาจารย์ มาจากคนที่ไม่อยากเป็นครู รวมถึงหลักสูตรที่พัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่เคยมีการประเมินว่าควรหรือไม่ควร เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามความคิดของผู้นำ หรือตามกระแสให้มันหวือหวา หรือดูเหมือนสนใจเพื่อของบประมาณไปเรื่อย “นักเรียนไทย” ก็เลยมักจะพูดเสมอว่า...หนูง่อยเลข หนูโง่วิทย์ หนูเดี้ยงภาษา หนูอ่อนสังคม หนูไม่ชอบไทย หนูไม่ถนัดศิลปะ หนูไม่รักดนตรี สรุปที่พยายามเรียนมาเพื่อหาให้เด็กรู้ว่า แท้จริงแล้วยิ่งเรียนยิ่งสร้างความเกลียดชังและความไม่ถนัดให้กับเด็ก มีผลทำให้เด็กก็เบื่อ พ่อแม่ก็เซ็ง ครูก็หน่าย สรุปว่ามันคือ “ระบบการศึกษาไทยที่ไม่เคยพัฒนามาเป็นเวลายาวนานมาก” เด็กไทยเรียนสังคมเพื่อท่องวันสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่เด็กและสอบทุกปี โดยไม่เคยจำได้ว่า วันเหล่านั้นคืออะไร? สำคัญอย่างไร? นอกจากมีหน้าที่ท่องไปสอบ จึงทำให้เราไม่เคยสนใจจริงจัง เราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความเกลียดชังประเทศอื่นๆ เราถูกบังคับให้วันๆ ต้องวาดภาพ โดยที่ครูไม่เคยแม้แต่จะอธิบายให้เราเข้าใจพื้นฐานของการวาดการใช้สี การเรียนเกษตรราวกับเราต้องไปเป็นผู้ผลิตปุ๋ยมาขาย แก้ปัญหาการเกษตรมากมาย เราเรียนงานบ้านมากมาย แต่ทำอะไรก็ไม่เป็น และซ้ำร้ายยังรังเกียจการทำงานบ้านงานอีกด้วย ฯลฯ สารพัดสิ่งที่เด็กถูกบังคับ เคี่ยวเข็ญให้ทำออกมาเลิศเลอผิดหรือเกินความสามารถเด็ก พ่อแม่ต้องลงทุนจับกลุ่มกันเพื่อช่วยลูกทำรายงาน ทำการบ้าน เพื่อให้ลูกได้คะแนนลวงๆ สรุปว่า เด็กเรียนหรือพ่อแม่เรียนกันแน่? ครูต้องการอะไรกันแน่?   หรือในหลายแห่งครูให้คะแนนเด็กจากยอดไลค์ในยูทูป ในเน็ต จนเกิดความสงสัยว่าครูคงไม่มีความรู้เพียงพอที่จะเป็นผู้พิจารณางานและให้คะแนนเด็ก ครูเคยถามไหมว่าเป้าหมายในการทำงานนั้นๆ เพื่ออะไร ให้เด็กเกิดความรู้แบบเด็ก หรือสร้างผู้เชี่ยวชาญปลอมๆ หรือแค่แก้ปัญหาหรือฆ่าเวลาไปวันๆ เราไม่เคยยอมรับหรือพยายามจะอธิบายให้เด็กเกิดความรัก ความรู้สึกที่ดี แทนที่จะสนใจว่า จะได้คะแนนเต็มหรือไม่? เมื่อเป้าหมายการเรียนก็ผิด ครูใช้อำนาจในการให้คะแนนในทุกๆ วิชา ไม่เว้นแม้แต่วิชางานบ้าน ที่ครูมีอาวุธในมือ คือ “คะแนน” ที่จะให้คุณโทษเด็กนักเรียน เด็กจะสนุกจากการเรียนได้หรือ อย่าเพิ่งตอบเลย ทั้งครู อาจารย์ นักการศึกษา ผู้บริการการศึกษา ผู้นำทั้งหลาย ลองฟังเสียงจากเด็กก่อน ฟังเสียงกระซิบตอบจากหัวใจเด็กว่ามันเหนื่อย เบื่อ เกลียด รักจากเด็กๆ ดีกว่า บางวิชาในหลายๆ ประเทศไม่เคยมีการให้คะแนนเด็ก แต่ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ได้เข้าใจ รักที่จะทำ ไม่ใช่เรียนโดยการบังคับ ให้เด็กเกิดความเกลียด หากแต่ประเทศไทยทุกอย่างเป็น “คะแนน” ไปหมด แม้แต่การทำดี การเป็นจิตอาสาก็เพื่อคะแนน เพื่อใบประกาศ ที่จะสะสมไว้ทำแฟ้มข้อมูลเด็ก เพื่ออะไรไม่รู้ แต่ต้องสะสมไว้ การให้ความสำคัญกับการตรวจวัดผมไม่ให้ยาวเกินกี่เซนติเมตร การสวมเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าให้เป็นสีขาวล้วน การวัดทุกอย่างให้เป็นระเบียบเหมือนกัน ภายใต้ความต่างกัน เพราะเราไม่เคยยอมรับว่าทุกคนล้วนแตกต่างกัน เรามองแต่เปลือกภายนอกที่คิดว่าจะแทนคุณภาพการเรียนได้ เราคิดไปเองว่าการที่ผมสั้นคงช่วยให้เด็กฉลาดขึ้น หรือมีสติปัญญา ตั้งใจเรียนมากขึ้น เมื่อมีผู้บริหารและครูแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะสร้างเด็กที่ไม่สนใจเรียนออกมาได้มากมาย ไม่แปลกที่เวลาบรรดาพ่อแม่กางรายชื่อโรงเรียนออกมา จะแทบหาโรงเรียนในฝันให้ลูกไม่ได้ พ่อแม่ส่วนหนึ่งฝากความหวังกับโรงเรียนชื่อดัง เพราะคิดว่าน่าจะดีกว่าโรงเรียนวัด หรือโรงเรียนเทศบาล ฝากความหวังกับโรงเรียนนานาชาติที่ค่าเล่าเรียนแพงมาก เงินเรียนจบแค่อนุบาลได้บ้านหรูๆ มาหลังหนึ่ง โรงเรียนสาธิตชื่อดังที่ต้องทุ่มทุนติวสอบแทบตาย หรือใช้เงินฝากเป็นล้านๆ โรงเรียนชายล้วนหญิงล้วนชื่อดังต่างๆ   แต่แล้วเหล่าพ่อแม่ก็ผิดหวังไปตามกัน เพราะโรงเรียนไม่ได้ดังที่หวัง พ่อแม่คิดว่าลูกได้เข้าเรียนแล้วจะจบเรื่อง ไม่ใช่หรอก หากพ่อแม่ต้องมานัดกลุ่มพ่อแม่กันต่อ เพื่อช่วยลูกทำรายงานกลุ่ม รายงานเดี่ยว ในขณะที่สมัยก่อนเราไม่เคยต้องให้พ่อแม่ช่วยทำงาน เราจึงมีความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ที่จนทำงานก็ยังไม่รู้จักรับผิดชอบ มันเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาในปัจจุบันของไทย? จีนเป็นประเทศที่ครูประถมและมัธยมทำงานหนักมาก โดยเฉพาะครูประจำชั้น มีความรับผิดชอบสูงมาก ครูแทบไม่เคยเอาเงินงบประมาณไปดูงานต่างประเทศ เพื่อหาความชอบธรรมในการไปเที่ยวต่างประเทศอย่างไม่น่าเกลียด เมื่อครูเหล่านี้กลับจากดูงานก็ไม่เคยเลยที่จะนำสิ่งที่ไปดูมาปรับใช้ได้กับการเรียนการสอน โดยอ้างว่าเราไม่มีอำนาจ ถ้างั้นจะไปดูงานเพื่อ...เราจะพบว่าครูไทยจำนวนมาก ไปดูงานยังประเทศต่างๆ มากมายทั้งสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สหรัฐฯ แต่ไม่เคยพบความเปลี่ยนแปลงของการดูงานนั้นเลย ในประเทศจีนนั้นครูจะใช้งบประมาณต่างๆ เหล่านี้เพื่อการศึกษาของเด็กอย่างจริงจัง ครูที่จีนก็มีรายได้ที่ดีและเพียงพอที่จะทำให้ครูไม่ถูกอาชีพอื่นดูถูก หรือต้องไปหางานทำงานนอกเวลาเพิ่ม และเมื่ออาชีพครูเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ ทำให้คนเก่งก็อยากเป็นครู ตั้งแต่สมัยก่อนเมื่อครั้งจีนยังเป็นประเทศสังคมนิยมแบบเข้มแข็ง คนที่เรียนจบมาด้วยคะแนนสูง รัฐจีนนั้นจะจัดสรรอาชีพครูให้กับคนเก่งๆ ก่อน เพื่อสร้างอนาคตใหม่กับประเทศที่กำลังก่อร่างสร้างประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง คนจีนให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนมาแต่อดีต ไม่ว่าจะกล่าวถึงนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของจีน ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับ “การศึกษาเป็นตัวตั้งในการสร้างคนที่ดี คนที่มีคุณภาพ” ที่เป็นกำลังสำคัญของชาตินั่นเอง. 


คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี” 
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kroobannok.com/83081





โลกสองใบ ในชีวิตประจำวัน


การจัดการโลกสองใบในชีวิตประจำวันให้มีความสมดุลทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อคุณจัดการผิดชีวิตคุณอาจเปลี่ยน แต่หากคุณจัดการโลกสองใบนี้ได้ดี ชีวิตคุณก็จะพบแต่ความสุข
หากมองเข้าไปให้ลึกถึงความคิดในสมองของคนเราในแต่ละวัน มันอาจจะดูเหมือนมีดวงไฟหลาย ๆ ดวง ที่ส่องแสงวิบวับสลับกันไปมาตลอดวัน คิดโน่นคิดนี่มากมายเต็มไปหมด และไม่ว่าคุณจะมีบุคลิคลักษณะนิสัยอย่างไร เชื่อได้เลยว่าทุกคนย่อมมีมุม ๆ หนึ่งที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น “โลกส่วนตัว” ให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นโลกที่คุณคิดว่ามันปลอดภัย รู้สึกผ่อนคลายสบาย ในความรู้สึกที่คุณอยากให้เป็น
“เมื่อคุณก้าวเข้ามาอยู่ในโลกส่วนตัว ที่คุณสร้างขึ้น มันเปรียบเสมือนกับการอยู่ใน Comfort Zone ทำให้คุณรู้สึกสบาย ปลอดภัย ไม่อึดอัด เป็นโลกอีกใบหนึ่งที่ทำให้คุณมีความสุข ในแบบที่คุณอยากเป็น ซึ่งแต่ละคน ก็มีการสร้างโลกส่วนตัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และในโลกใบนั้น…อาจมีคุณอยู่แค่เพียงคนเดียว หรือจะอนุญาตให้ใครเข้ามาอยู่ร่วมด้วยก็ได้ เพราะมันเป็นสิทธิ์ในโลกของคุณ”
ในความเป็นจริงแล้ว คนเราสามารถสร้างโลกส่วนตัวได้อย่างไม่จำกัด บางคนอาจจะมีโลกหลาย ๆ ใบในตัวคนคนเดียวกัน ซึ่งโลกในแต่ละใบนั้น อาจจะมีอยู่จริงหรือเป็นโลกที่เป็นเพียงแค่โลกในจินตนาการ ก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนที่คิดจะสร้างขึ้นมา ช่วงนี้ กระแสของโลกสองใบกำลังมาแรง ต้องขอออกตัวก่อนว่า ไม่ขอพาดพิงเรื่องราวที่เป็นที่มาของเรื่องนี้นะคะ แต่อยากจะแสดงให้เห็นถึงคำ ๆ นี้ ในอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้นเอง
หากมองกลับมาในภาพของพนักงานประจำ ทุกวันนี้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็มีโลกสองใบเช่นกัน (เอ…หรือมากกว่านั้นนะ) เมื่อคุณอยู่ในออฟฟิศหรือที่ทำงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งใด บทบาทหน้าที่ย่อมมีความแตกต่าง ประหนึ่งการใส่หัวโขนที่คุณจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด และเมื่อคุณกลับบ้านอยู่กับครอบครัวก็จะเป็นอีกหน้าที่หนึ่ง อีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกจะแตกต่างกันโดยโดยสิ้นเชิง แต่ปัญหาอยู่ที่…คุณจะทำอย่างไรให้โลกสองใบนี้เกิดความสมดุล และบริหารจัดการให้ลงตัวมากที่สุด
“เพราะฉะนั้น หากพูดถึงคำว่า “โลกสองใบ” ในที่นี้นั่นก็คือการสร้างเส้นแบ่งระหว่างโลกของการทำงาน และโลกส่วนตัวให้ลงตัว นั่นหมายถึงการบริหารจัดการและทำหน้าที่ในงาน ที่เขาให้คุณวันละ 8 ช.ม. ให้เต็มที่และดีที่สุดแต่ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับอีกหลายชั่วโมงที่เหลือ เพื่อ Balance ชีวิตให้มีความสมดุล และมีความสุขนั่นเองค่ะ”
มันคือหลักการของการบริหารจัดการเวลาหรือ Time Management เพื่อให้เกิดความสมดุลของโลกสองใบของคุณ หรือที่หลายคนเรียกว่า “Work life balance” มาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจเกิดข้อโต้แย้งขึ้นมาว่า “แหม! ในระหว่างวันนี่รู้มั้ย ว่ามีแต่ประชุม ประชุม แล้วก็ประชุม แทบจะหาเวลาทำงานอย่างจริงจังไม่ได้เลย กว่าจะมีเวลามานั่งทำ Report ก็ปาไปหลังเลิกงานซะแล้ว แล้วจะจัดการยังไงดีล่ะ?”
เข้าใจว่าแต่ละคนก็คงเจอสถานการณ์แบบนี้กันมาเยอะ แต่ละวันแค่เดินสายประชุมก็หมดเวลาแล้ว ไหนจะลงมือทำ Report และกว่าจะเสร็จก็ปาเข้าไปทุ่มสองทุ่ม หรือบางคนก็แทบจะต้องหอบที่นอนหมอนมุ้งมานอนในออฟฟิศกันเลยทีเดียว ชีวิตช่างเศร้าใจอะไรเยี่ยงนี้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ ทำให้โลกอีกหนึ่งใบของคุณโดยเบียดเบียนเวลาโดยสิ้นเชิง..
วิธีแก้เพื่อไม่ให้โลกอีกใบหนึ่งของคุณหายไปในทุก ๆ วัน หรือหากปล่อยไว้นาน ๆ มันก็อาจจะหายไปอย่างถาวร นั่นก็คือ “การจัดลำดับความสำคัญของงานและเลือกทำในสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน” แล้วลองคิดทบทวนดูว่าหากเป็นเรื่องอื่นที่ยังไม่ด่วนไม่สำคัญ เราจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมหรือไม่ หรือมีคนอื่นเข้าไปมีส่วนร่วมแทนเราได้หรือไม่
เช่น เหมือนที่กล่าวไปข้างต้น หลังจากที่คุณเปิดตารางการประชุมในวันนี้ของคุณขึ้นมาแล้วพบว่า วันนี้มีประชุมเพียบเลย! ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า – 5 โมงเย็น คิ้วคุณก็เริ่มจะผูกโบว์ ความเครียดก็เริ่มปรากฏ หากคุณตัดสินใจไปเข้าร่วมทุกประชุม วันนี้ทั้งวัน คุณก็คงแทบไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เดินสายประชุมก็หมดเวลาแล้ว กว่าจะทำ Report ส่งอีก จินตนาการไว้เลยว่าวันนี้ต้องกลับถึงบ้านหลัง 4 ทุ่มแหงๆ และโลกอีกใบหนึ่ง อาจพังพินาศได้
ลองจัดความสำคัญสิคะ เรื่องบางเรื่องคุณอาจส่งตัวแทนไปรับทราบแทนได้ไหม อาจเป็นลูกน้องหรือคนในทีม ประชุมมาแล้วติดอะไรก็ค่อยนำมาคุยกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการกระจายงานและลดเวลาในการประชุมของคุณให้น้อยลง แต่เพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้น หรืออีกประเภทหนึ่ง คุณอาจไม่ค่อยมีการเดินสายประชุมมากเท่าไหร่นัก แต่…เจ้านายให้งานมาเพียบเลย กองเต็มโต๊ะ ทำไงดีล่ะ?
ลอง “ตั้งสติ” แล้วจัดลำดับความสำคัญของงานเหล่านั้นดูค่ะ อันไหนด่วนต้องทำจริง ๆ ก็ทำก่อน อันไหนไม่เร่งด่วน ไม่ได้เร่งรีบ ก็ค่อยมาจัดการทีหลัง (ไม่จำเป็นต้องเป็นวันเดียวกันเสมอไป) เชื่อได้เลยว่าคงไม่มีใครได้รับงาน 10 อย่างมาในเวลาเดียวกัน และมีการกำหนดให้งานทั้งกองนั้นต้องเสร็จพร้อมกันหรอกค่ะ ถึงจะมีก็คงน้อยมาก และคิดว่าหากมีจริง ๆ วันนั้นคงเป็นวันที่ซวยสุด ๆ ของคุณกันเลยทีเดียว
เอาเป็นว่า ไม่ว่าคุณจะมีโลกกี่ใบ จะหนึ่งใบ สองใบ หรือมากกว่านั้น หากคุณสามารถบริหารจัดการได้ดี จะช่วยทำให้ชีวิตของคุณเกิดความสมดุล (Balance) มากยิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว แค่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ก็น่าจะเพียงพอแล้ว จริงมั้ยล่ะคะ?


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน

" กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน " กาพย์เห่ชมเครื่องคาว - หวาน บทพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ล้นเกล้ารั...